ละลาย “ผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง” อย่างไรให้คงคุณค่า?

 ผลิตภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็ง หรือ ที่นิยมเรียกกันอย่างสั้นว่า “อาหารแช่แข็ง”  คือ ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านกระบวนการการแปรรูปด้วยการให้ความเย็นระดับเยือกแข็งเพื่อถนอมอาหารให้เก็บได้ยาวนาน

อุณหภูมิที่ต่ำจะสามารถ ลด ยับยั้งและหยุดการเสื่อมเสียในอาหารอันเนื่องมาจากการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ กฎการเก็บรักษาอาหารแช่แข็งส่วนใหญ่ จะให้เก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำกว่า -18°C (=0°F) ได้ในระยะเวลา 6 เดือน ถึง 2 ปี ด้วยความเย็นระดับนี้จะไม่มีจุลินทรีย์ชนิดใดสามารถเจริญเติบโตได้

ปัจจุบันศูนย์จำหน่ายอาหารแช่แข็งมีมากขึ้น ผู้บริโภคก็หันมาให้ความสำคัญและสนใจใช้สินค้าประเภทนี้เนื่องจากความได้เปรียบในเรื่องของอายุการเก็บรักษา ที่มักพบเห็นและนิยมบริโภคได้แก่ ปลาแช่แข็ง ปลาหมึกแช่แข็ง ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบถึงวิธีการทำละลายที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเสื่อมเสียของอาหาร ทั้งด้านชีวภาพและกายภาพ ผู้เขียนขอรวบรวมและสรุปประเด็นเกี่ยวกับการทำละลายอาหารแช่แข็งดังนี้ค่ะ

ละลายในตู้เย็น

วิธีนี้ทุกคนยอมรับว่าดีที่สุด  แต่ต้องใช้เวลาละลายไม่ต่ำกว่า 1 วัน  ขึ้นอยู่กับขนาดของอาหารนั้น ​วิธีการคือ ให้นำอาหารทะเลแช่แข็งมาแช่ในตู้เย็นช่องปกติ  โดยจะคงไว้ในภาชนะบรรจุ

ละลายในน้ำเย็น

วิธีการคือ ให้ใส่อาหารในถุงซิปล็อก  ปิดให้เรียบร้อย  แล้วจึงนำไปแช่ในน้ำเย็น (ตรวจเช็คสภาพถุงให้ดีก่อนแช่  ไม่ให้น้ำเข้าไปในถุงได้)

*ห้ามแช่ในน้ำอุ่นเด็ดขาด  เพราะจะทำให้ละลายเร็วเกินไป  อาหารทะเลจึงจะเสียรสชาติตามธรรมชาติ และอาจทำให้ผิวด้านนอกเกิดแบคทีเรียก่อนที่เนื้อด้านในจะละลายอีกด้วย

ละลายในไมโครเวฟ

ถ้าต้องการทำอาหารเลยทันที  ก็สามารถละลายอาหารทะเลแช่แข็งในไมโครเวฟได้ โดยตั้งโหมด defrost  และตั้งเวลาสัก 2-3 นาที แต่เราจะต้องเปิดเช็คบ่อยๆ ประมาณทุก 45 วินาที เนื่องจากเนื้อจะต้องไม่สุกในไมโครเวฟโดยเด็ดขาด  เพราะจะทำให้เนื้อเสียความชุ่มชื้นจนเหนียว

นำมาทำอาหารเลยโดยไม่ละลาย

เราสามารถนำอาหารทะเลแช่แข็งไปปรุงสุกทันที  โดยไม่ผ่านการละลายเลยก็ได้  แต่ใช้ไม่ได้กับทุกเมนู โดยเมนูที่เหมาะสมคือ การนึ่ง อบ หรือต้ม  ที่เป็นการปรุงนานบนความร้อนไม่สูง  ทำให้เนื้อสุกได้อย่างทั่วถึง จากภายนอกจนถึงภายใน

ละลายแล้ว นำไปแช่ตู้เย็นอีกได้ไหม?

โดยทั่วๆไป  เนื้อสัตว์แช่แข็งทุกชนิดเมื่อผ่านการละลายก็ไม่ควรนำกลับไปแช่อีก  เพราะแบคทีเรียอาจเจริญเติบโตขึ้นมาได้ และเนื้อสัมผัสก็จะไม่เหมือนเดิม  นอกเสียจากว่าเราจะนำเนื้อทั้งหมดไปปรุงให้สุกก่อน  แล้วจึงนำไปแช่  ก็จะเก็บไว้ได้ 3-4 วัน โดยอาหารที่จะนำไปแช่ต้องไม่ถูกทิ้งไว้นอกตู้เย็นเกิน 2 ชั่วโมง  (ไม่เกิน 1 ชั่วโมง หากอุณหภูมิสูงกว่า 32 องศาเซลเซียส)

แต่อย่างไรก็ตาม การละลายจะคืนสภาพอาหารแช่แข็งให้สดใหม่ อาหารนั้นต้องได้รับการแช่แข็งมาอย่างดี จนถึงการละลายอย่างถูกต้อง จะเหมือนกับอาหารสดทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นที่จะต้องสด ไม่ใช่กลิ่นคาวแรงๆ เนื้อที่ต้องมีความยืดหยุ่น ไม่แข็งหรือเละ  และสีของเนื้อ ก็ต้องเป็นสีปกติ ไม่มีรอยคล้ำตำหนิใดๆ ฉะนั้นนอกจากวิธีการละลายที่สำคัญแล้ว การเลือกสินค้าที่มีคุณภาพจากศูนย์จำหน่ายอาหารแช่แข็งที่มีมาตรฐานก็สำคัญไม่แพ้กันค่ะ

แหล่งข้อมูล
http://www.wikihow.com/Thaw-Frozen-Fish
https://th.wikipedia.org/wiki/ผลิตภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็ง